หนูดี วนิษา เรซ...ผู้เชี่ยวชาญด้านอัจฉริยภาพ
เปิด 3 วิธีการทำงานสร้างอัจฉริยภาพในคน ทำองค์กร, ร.ร., ครอบครัวอัจฉริยะ ชู Howard Gradner เจ้าทฤษฎีสร้างอัจฉริยะ เชื่อทฤษฎีนี้ตื่นตัวไม่น้อยกว่า 10 ปี แต่สร้างเป็นหลักสูตรได้ 5 ปีที่ผ่านมา ยังใหม่สำหรับตลาดบ้านเรา ขาดบุคลากรสูง เผย 5 คุณสมบัตินักสร้างอัจฉริยะที่ดี
3 วิธีการทำงานของอัจฉริยบุคคล
"วนิษา เรซ" หรือ หนูดี ประธานกรรมการ บริษัท อัจฉริยะสร้างได้ จำกัด เล่าถึงวิธีการทำงานว่าแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.การเป็นเทรนเนอร์เพื่อให้ความรู้ และ 2.เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านอัจฉริยภาพมาให้ความรู้ โดยหลักการทำงานของ "หนูดี" จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
1.องค์กรอัจฉริยะ ซึ่ง "หนูดี" จะเป็นผู้จัดประชุมสัมมนา หรือพัฒนาคนในองค์กร ภายใต้หลักสูตรสร้างทีมงานอัจฉริยะเพื่อสร้างพนักงานในบริษัทให้ได้ใช้สมองอย่างเต็มที คือจำแม่น พรีเซนต์งานเก่ง คิดนอกกรอบ มีการสื่อสารกันถูกหลักสมอง และนำกลุ่มไปสู่เป้าหมายได้โดยไม่ทะเลาะกัน
ด้านการพัฒนาความเป็นอัจฉริยะในผู้ใหญ่ก็เพื่อให้เขาได้รู้ระบบการทำงานของสมอง ซึ่งเขาจะเข้าใจว่าสมองไม่สามารถรับข้อมูลได้เกินกว่า 7 สิ่งในความทรงจำระยะสั้น ดังนั้น ถ้าหัวหน้าจะสั่งงานจะต้องให้ลูกน้องจดคำสั่ง และจะต้องทวนคำสั่งทุกครั้ง
หรือการไปพรีเซนต์งานหน้าห้องประชุมจะต้องกวาดตา และจ้องตาผู้ฟังเพื่อเป็นการสะกดก่อน เพราะจะทำให้อีกฝ่ายรู้ว่าผู้พูดเป็นผู้มีอำนาจ พร้อมกับบอกว่า "นี้คือสิ่งสำคัญที่ดิฉันอยากจะพูดมี 3 สิ่ง" ซึ่งคนฟังเขาจะตั้งใจและจำได้ว่าเรื่องที่พูด 3 เรื่องคือเรื่องใด ตรงนี้ก็เป็นผลของการทำงานของสมอง
"หนูดี" ยังสอนวิธีการทำ Mind Mapping เพื่อให้เห็นว่าสมองมีการทำงานแบบใด หรือในด้านพัฒนาผู้นำองค์กรจะมีการเทรนเรื่อง Creative Leaders : From Finding Solutions to Creating Opportunities เพราะผู้นำที่มีความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่แก้ปัญหาให้กับองค์กรได้เท่านั้น แต่ต้องสามารถหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับองค์กรได้ด้วย
2.โรงเรียนอัจฉริยะ
จะทำหน้าที่สองอย่าง คือ การพัฒนาบุคลากรครูและนักเรียน เพราะถ้ารู้จักเรื่องของสมองจะทำให้สมองของเด็กทำงานอย่างเต็มที ซึ่งโรงเรียนอัจฉริยะจะเทรนเด็กถึงวิธีเรียนแบบใดให้เรียนเก่ง ไม่ต้องใช้เวลาเยอะ เพราะ "หนูดี" ยังสามารถเรียนเก่งและทำทุกอย่างได้ แถมยังได้นอนอีก 7-8 ชั่วโมง เพราะถ้ามีวิธีที่ถูกต้องในการท่องจำจะลดการใช้เวลาได้
3.ครอบครัวอัจฉริยะ
คือ การเป็นที่ปรึกษาหรือเปิดอบรมให้กับพ่อแม่ที่ต้องการเลี้ยงลูกให้เป็นอัจฉริยะ ซึ่ง "หนูดี" จะแนะนำพ่อแม่ว่าการให้ลูกเรียนหนักไม่ได้ช่วยให้เด็กเก่ง และไม่ใช้วิถี่ แต่ถ้าพ่อแม่รู้จักการทำงานของสมองจะเข้าใจการสร้างลูกให้เป็นอัจฉริยะ ทั้งเรียนเก่งและยังมีเวลาทำกิจกรรมอื่นๆ
หรือแนะวิธีการอ่านหนังสือแบบเร็ว พร้อมทั้งเทคนิคเรียนเก่งที่ไม่ต้องบังคับให้ลูกอ่านหนังสือทุกหน้า แต่พ่อแม่ต้องช่วยอ่านหนังสือ และสรุปเนื้อหา พร้อมทั้งเล่าให้ลูกฟัง เพื่อให้เกิดการถามตอบระหว่างพ่อแม่ลูก ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ครอบครัวได้ใกล้ชิดกัน และยังทำให้ลูกจดจำได้ง่ายขึ้น
โดยรูปแบบการทำงานให้คำปรึกษาเพื่อสร้างเด็กอัจฉริยะนั้น "หนูดี" จะเริ่มจากการดูว่าเด็กมีแววอัจฉริยะด้านใด ซึ่งถ้าไม่มีมาแต่เกิด ความอัจฉริยะของเขา ก็คือสิ่งที่พ่อแม่ต้องการสร้างให้กับเขา เพราะเด็กจะสนองตอบความต้องการของพ่อแม่ ซึ่ง "หนูดี"จะปรับความต้องการของเด็กและพ่อแม่ให้ใกล้เคียงกัน เพื่อสร้างให้เด็กเก่งและมีความสุขในความเก่งของตัวเอง โดยจะให้คำแนะนำกับพ่อแม่ในการซัปพอร์ตเพื่อสร้างให้ลูกเป็นอัจฉริยะ ซึ่งจะเห็นผลได้ประมาณ 1 เทอมสำหรับเด็กเล็กๆ
'Howard' ต้นแบบพัฒนาอัจฉริยะ
สำหรับการเข้าสู่วงการผู้เชี่ยวชาญด้านสมองของ "หนูดี" นั้นเกิดจากการมีโอกาสอยู่ในวงการการศึกษามานาน เพราะที่บ้านทำธุรกิจโรงเรียน ประกอบกับเมื่อครั้งที่เรียนอยู่ในไทยจะไม่ชอบการเรียน เพราะเป็นการเรียนที่เครียดมาก และต้องติวหนังสือตลอด ซึ่งเธอมองว่าสิ่งนี้ไม่ใช่วิถี่ ไม่ใช่คำตอบของชีวิต ถึงได้คะแนนดี แต่ไม่มีความสุข
เมื่อมีโอกาสเข้าวงการการศึกษาคิดว่า "ทำยังไงเด็กถึงจะฉลาดและสมองดีโดยไม่ต้องเสียความสงบในใจ และความสุขในชีวิต ก็มาค้นพบว่าสมองมีส่วนสำคัญ ถ้ารู้จักใช้สมองไม่ว่าจะเรียน ทำงานสาขาใด ก็จะทำได้เต็มที่ แต่ที่สอนส่วนใหญ่เป็นการเรียนด้านผ่าตัดสมอง"
ซึ่ง "หนูดี" ได้มีโอกาสค้นพบคำตอบในเรื่องนี้ขณะกำลังจะศึกษาปริญญาโท ได้พบนักทฤษฎีผู้หนึ่งชื่อ Howard Gradner ซึ่งคิดค้นทฤษฎี Multiple intelligences หรือทฤษฎีพหุปัญญา หรืออัจฉริยภาพหลายประการ ในหนังสือที่ชื่อว่า Frames of Mind เป็นหนังสือที่นักศึกษา และนักธุรกิจด้านการพัฒนาสมองอ่านเพื่อเปลี่ยนวิธีการมองอัจฉริยภาพของคน
จากเดิมที่คนจะบอกว่าอัจฉริยภาพของคนมีแค่ภาษากับการคำนวณ แต่ Howard Gradner บอกว่าไม่ถูกต้อง งานวิจัยของเขาชี้ ว่าอัจฉริยภาพของคนมีเรื่องดนตรี, ร่างกาย, การเข้าใจตนเอง, การเข้าใจผู้อื่น, ด้านพื้นที่สัมพันธ์, ภาษาและคณิตศาสตร์, เข้าใจธรรมชาติ และการมองไกลกว่าตัวเอง
ซึ่งทฤษฎีของเขาถือเป็นทฤษฎีที่ตรงกับ "หนูดี" เพราะคนเรียนเก่งยังสามารถทำอย่างอื่นได้อีก อย่าง "หนูดี" เรียนเก่ง แต่ยังเป็นนักเต้นบัลเลย์ ครูสอนยิงธนู ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะคนเก่งไม่ควรจะเก่งทุกอย่าง ซึ่งตรงนี้ทฤษฎีเก่าตอบไม่ได้ ซึ่งพบว่ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกที่สอนโปรแกรมประสาทวิทยา จิตวิทยาการเรียนรู้ และการศึกษา หรือ My Brand Education โดยได้ Howard Gradner เป็นเจ้าของหลักสูตร
แม้ว่าทฤษฎีนี้จะมีการตื่นตัวมานานถึง 10 ปีแล้ว แต่มีการเอาโปรแกรมนี้มาใช้เมื่อ 5 ปีก่อน เนื่องจากต้องแยกหลักสูตรออกจากมหาวิทยาลัยแพทย์ เพื่อเอามาสอนในมหาวิทยาลัยการศึกษา เพราะการจะเอาไปพัฒนาคนจะต้องให้นักการศึกษาเอาไปใช้
สำหรับปัจจุบันที่ "หนูดี" เลือกเข้ามาตั้งบริษัทในไทยนั้น เนื่องจากทฤษฎีนี้ประเทศจีนนำเอาไปใช้ทั้งประเทศประมาณ 90% ส่วนในไทยเอาไปใช้ในโรงเรียนแต่ไม่มีการใช้ในกลุ่มผู้ใหญ่ จึงเกิดความคิดที่จะเอาทฤษฎีนี้มาใช้ในกลุ่มผู้ใหญ่ และต้องการนำความรู้ในวงการสมองจากมหาวิทยาลัยเข้ามาเผยแพร่ในไทย
และยังอยากเป็นตัวเชื่อมระหว่างวงการสมองอันดับ 1 ของโลกกับคนไทย เพราะ "หนูดี" สามารถเชิญอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอัจฉริยภาพจากต่างประเทศเข้ามาในไทยได้ และในอนาคตจะไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตื่นตัว และพัฒนาศักยภาพวงการอัจฉริยภาพให้กับคนไทยได้
สำหรับหลักสูตรนี้ยังไม่มีการเปิดสอนในไทย แต่ "หนูดี" มีความคิดที่จะไปเป็นอาจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัยที่ต้องการเปิดหลักสูตรนี้ ซึ่งอาจจะเป็นประมาณกลางปีหน้า ส่วนในต่างประเทศก็มีอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นอกจากนี้จะขยายไปยังออกซ์ฟอร์ด , นิวยอร์ก ยูนิเวอร์ซิตี้ และเคมบริดจ์
ตลาดยังไม่รู้จัก-อาชีพนี้ยังขาดแคลน
กระแสการพัฒนาสมองเพื่อก้าวสู่การเป็นอัจฉริยบุคคล เข้าสู่ประเทศไทยเมื่อ 2-3 ปีก่อน ซึ่งคนไทยรู้จักน้อยมาก และยังไม่เคยมีการทำวิจัยอย่างจริงจัง พร้อมทั้งยังเป็นการรู้ในเชิงตื้นไม่ใช่เชิงลึก ซึ่ง "หนูดี" เชื่อว่าการเข้าไปเอาข้อมูลปฐมภูมิจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเข้ามาในไทยได้ จะเป็นการพัฒนางานตรงนี้ให้กับคนไทย เพราะงานวิจัยที่จะเอาเข้ามาเป็นงานที่ใหม่
ส่วนการขยายตัวสู่อาชีพอื่นนั้น เชื่อว่าทำได้ ทั้งในสายธุรกิจเพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท, การศึกษาเพื่อเป็นที่ปรึกษากับนักการศึกษา หรือจิตวิทยาเพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับบุคคลทั่วไป
สำหรับรายได้ของผู้ที่ทำงานด้านนี้ถือว่าอยู่ในระดับสูง และมีผู้ทำอยู่น้อย ซึ่งคาดว่ารายได้จากการทำอาชีพนี้ในต่างประเทศถึงปีละ 5-10 ล้านบาท เพราะคนที่จะทำได้ต้องมีพื้นฐานการศึกษาที่ดี ซึ่งถ้า "หนูดี" ไม่จบทางด้านนี้โดยตรงจากมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งคงจะไม่กล้าเข้าสู่วงการนี้
แต่การจะจบจากมหาวิทยาลัยฮาว์วาร์ดได้ต้องใช้ทุนในการศึกษาและค่าใช้จ่ายต่อปีไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ซึ่ง "หนูดี" ยอมรับการเป็นคนเรียนดี และรู้จักใช้สมองอย่างถูกวิธีทำให้สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนี้โดยได้รับทุนการศึกษาตลอดจนจบการศึกษา
๓วิธีการทำงานสร้างอัจฉริยภาพในคน
02:41 |
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น